มาอีกแล้ว กรมอุตุฯ เผย มีพายุใหม่ 2 ลูกก่อตัว

มาอีกแล้ว กรมอุตุฯ เผย มีพายุใหม่ 2 ลูกก่อตัว

วันที่ 27 ก.ย.67 กรมอุตุนิยมวิทยา ออกเอกสารข่าวเผยแพร่ในเพจของกรมอุตุนิยมวิทยา กรณีที่ที่มีการเผยแพร่ภาพและข้อความว่า “อีก 5 วันจะเกิดพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่ ถล่มไต้หวัน และถ้ามวลอากาศเย็นหายไป พายุลูกนี้จะเคลื่อนตัวเข้าเวียดนามและเข้าประเทศไทยทางฝั่งภาคเหนือตอนบนอย่างแน่นอน ถ้าเป็นแบบนี้ กรุงเทพฯ น้ำจะท่วมหนักกว่าปี’54 ถึงสองเท่า” นั้น

กรมอุตุนิยมวิทยาขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมิได้มีที่มาจากกรมอุตุนิยมวิทยา และเป็นข้อความที่มาจากบุคคลที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบ หรือหน่วยงานที่แจ้งเตือนภัยธรรมชาติโดยตรง อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

จากการติดตามและคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในขณะนี้มีพายุในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ 1 ลูก เป็นพายุหมุนเขตร้อนมีความรุนแรงอยู่ในระดับ พายุโซนร้อน ชื่อ “ชีมารอน” (CIMARON) คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นไปทางตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่นและจะอ่อนกำลังลงตามลำดับต่อไป

และจะมีการก่อตัวของความกดอากาศต่ำที่ก่อตัวขึ้นมาใหม่บริเวณด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์(ตัว L) มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน คาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นและจะเคลื่อนตัวไปทางเกาะไต้หวัน

ในขณะที่มีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงแรงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกลุมประเทศเวียดนามตอนบนในวันที่ 30 ก.ย.67 และแผ่ลงมาต่อเนื่องทำให้ประเทศไทย มีฝนเพิ่มขึ้นในระยะแรกๆ หลังจากนั้นอากาศเย็นลง

พายุนี้ไม่ผลกระทบต่ออากาศของประเทศไทยโดยตรง ถึงแม้ว่าความกดออากาศสูงจะอ่อนกำลังลง พายุนี้จะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนด้านตะวันออกมากขึ้น จะไม่เคลื่อนลงมาทางประเทศเวียดนามและทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย หรือไม่พายุนี้ก็อาจจะอ่อนกำลังลงก่อนขึ้นฝั่ง

จึงขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลการพยากรณ์อากาศในระยะนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นช่วงถ่ายฤดูกาลอากาศอาจจะมีความแปรปรวนในบางวัน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศร้ายแรงเกิดขึ้น กรมอุตนิยมวิทยา จะออกประกาศเตือนอย่างเป็นทางการต่อไป โดยหากมีพายุหมุนเขตร้อนเกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ และมีแนวโน้มว่าจะเข้าสู่ประเทศไทย หรือ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย จะประกาศเตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน

ด้าน นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการและผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำ บริษัท ทีม เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนต์ หรือ TEAM GROUP กล่าวถึงการเกิดของพายุลูกที่ 16-17 ของปีนี้

โดยพายุลูกที่ 16 เป็นพายุดีเปรสชั่นชีมาโรน (#16:Cimaron = สัตว์ดุร้ายของฟิลิปปินส์) ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกใกล้ประเทศญี่ปุ่น กำลังเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ส่งผลให้ช่วงวันที่ 26-28 ก.ย. จะมีฝนตกปานกลางถึงหนักบางแห่ง ในพื้นที่ชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่นตั้งแต่โอซากา, เกียวโต, โตเกียว, เซนได, ฮอกไกโด และพื้นที่ใกล้เคียง

พอถึงวันที่ 29 ก.ย. คาดว่าพายุดีเปรสชั่นชีมาโรนจะไปสลายตัวในทะเลทางตะวันออกของญี่ปุ่น

ส่วนพายุลูกที่ 17 (ยังไม่ได้รับการตั้งชื่อ) คาดว่ากำลังจะก่อตัวขึ้นในทะเลทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ เคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ จะส่งผลให้ช่วงวันที่ 30 ก.ย. ถึง 1 ต.ค. มีฝนตกหนักมากที่บริเวณเกาะไต้หวัน

วันที่ 2-4 ต.ค. จะเกิดฝนตกหนักมากที่ญี่ปุ่นตลอดแนวเกาะ ตั้งแต่เมืองฟูกูโอกะ, โอซากา, เกียวโต, โตเกียว, เซนได, ฮอกไกโด และพื้นที่ใกล้เคียง

พายุทั้ง 2 ลูกนี้ไม่มีผลต่อประเทศไทย” นายชวลิตกล่าว

พยากรณ์อากาศ ระหว่างวันที่ 26 กันยายน – 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 27 – 32 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 26 – 28 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 – 40 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 29 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 35 องศาเซลเซียส

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 25 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32 – 36 องศาเซลเซียส

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ตลอดช่วง อุณหภูมิต่ำสุด 22 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 36 องศาเซลเซียส ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย 67 ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15 – 30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1- 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย – 2 ต.ค. 67 ลมแปรปรวน ความเร็ว 15 – 35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1 – 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ ตลอดช่วง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 23 – 26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30 – 35 องศาเซลเซียส

กรุงเทพและปริมณฑล ในช่วงวันที่ 26 – 29 ก.ย 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม.

ส่วนในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 – 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากกับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ลมแปรปรวน ความเร็ว 10 – 20 กม./ชม. อุณหภูมิต่ำสุด 24 – 28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33 – 36 องศาเซลเซียส ข้อควรระวัง

ในช่วงวันที่ 30 ก.ย. – 2 ต.ค. 67 ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย ตลอดช่วง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *